วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระประดิษฐ์ไพเราะ  
(มี  ดุริยางกูร)  
 
              พระประดิษฐ์ไพเราะ  เป็นครูดนตรีไทยคนสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์  สันนิษฐานว่าเกิดตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๑  คนทั่วไปมักเรียกท่านว่า  ครูมีแขก  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงสืบประวัติไว้ว่า  ครูปี่พาทย์ชื่อครูมีแขกนั้น  คือเป็นเชื้อแขก  ชื่อมี  ครูมีแขกเป็นผู้เชี่ยวชาญคนตรีไทยเกือบทุกประเภท  ทั้งยังแต่งเพลงด้วย เพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ทยอยนอก ทยอยใน 3 ชั้น
           ในสมัยรัชกาลที่ 4  เจ้านายหลายพระองค์รวบรวมคนหัดปี่พาทย์ขึ้นเล่นประชันวงกัน  ครูมี ได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประดิษฐ์ไพเราะ  ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก
           ได้ว่ากรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นครูมโหรีของกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร  นอกจากมีความสามารถในการเป่าปี่แล้ว  ครูมีแขกยังชำนาญในการสีซอสามสาย  โดยได้แต่งเพลงเดี่ยวเชิดนอกทางซอสามสายไว้ด้วย
          ครูมีแขกถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕  ประมาณระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗ ๒๔๒๑   ทิ้งไว้เพียงชื่อเสียง คุณงามความดี และคุณูปการอันมากล้นสำหรับวงดนตรีไทย
 

 

 
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
 
จ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
 
  
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   เป็นเจ้าฟ้าผู้ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนง ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี และงานช่าง  พระองค์มีพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าจิตรเจริญ  เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย  ประสูติที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวัง  เมื่อวันที่  ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖  ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนคะเด็ตทหาร  จากนั้นผนวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  หลังจากนั้นทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ  และราชประเพณี
 
พระองค์เจ้าจิตรเจริญทรงผนวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ. ๒๔๒๗  ครั้นลาผนวชแล้ว  ทรงรัชราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระสติปัญญารอบรู้  เป็นที่วางพระราชหฤทัยจนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญ  อยู่หลายหน่วยงานเพื่อวางรากฐานในการบริหารราชการให้มั่นคง ทั้งกระทรวงโยธาธิการ  กระทรวงพระคลัง  และกระทรวงวัง
 
               ใน พ.ศ. 2452  ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากประชวร    ด้วยโรคพระหทัยโต  ทรงปลูกตำหนักอยู่ที่คลองเตย และเรียกตำหนักนี้ว่า  บ้านปลายเนิน  ครั้นเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์  และโปรดเกล้าฯ  ให้ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง  จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จึงทรงพ้นจากตำแหน่ง
                ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   ในบั้นปลายพระชนม์ทรงประทับที่บ้านปลายเนินจนสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐  พระชันษา ๘๓ ปี  ทรงเป็นต้นราชสกุล  จิตรพงศ์ 
                สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนุวัดติวงศ์  ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานช่างหลายแขนง ได้ทรงงานออกแบบไว้เป็นจำนวนมาก  ทั้งงานภาพเขียนในวรรณคดี  ภาพประดับผนัง  พระราชลัญจกรและตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ  ตาลปัตร  ตลอดจนสถาปัตยกรรม  ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  พระอุโบสถวัดราชาธิวาส  พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ฯลฯ  ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านงานช่างนี้เอง  ทำให้ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า  นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม 
 
                 นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารทางด้านดนตรี  ทรงพระนิพนธ์เพลงเขมรไทรโยค เพลงตับนิทราชาคริต เพลงตับจูล่ง ฯลฯ  ส่วนด้านวรรณกรรมทรงมีลายพระหัตถ์โต้ตอบกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นเอกสารที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและอักษรศาสตร์ ที่รู้จักกันทั่วไปในนาม  สาส์นสมเด็จ ความที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนงจึงมิได้เป็นบุคคลสำคัญของชาติไทยเท่านั้น  หากแต่ทรงเป็นบุคคลที่ชาวโลกพึงรู้จัก โดยใน พ.ศ. ๒๕๐๖  อันเป็นวาระครบรอบร้อยปีแห่งวันประสูติ ยูเนสโกได้ประกาศให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกพระองค์หนึ่ง
 
ขรัวอินโข่ง  
 
ขรัวอินโข่ง  เป็นชื่อเรียกพระอาจารย์อิน  ซึ่งเป็นจิตรกรในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขรัวอินโข่งเป็นชาวบางจาน จังหวัดเพชรบุรี  บวชอยู่จนตลอดชีวิตที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)  กรุงเทพฯ  การที่ท่านบวชมานานจึงเรียกว่า ขรัว ส่วนคำว่า โข่ง นั้นเกิดจากท่านบวชเป็นเณรอยู่นานจนใคร ๆ  พากันเรียกว่า  อินโข่ง  ซึ่งคำว่า โข่ง หรือโค่ง หมายถึง ใหญ่หรือโตเกินวัยนั่นเอง
           ขรัวอินโข่ง  เป็นช่างเขียนไทยคนแรกที่มีความรู้ในการเขียนภาพทั้งแบบไทยที่นิยมเขียนกันมาแต่โบราณ และทั้งแบบตะวันตกด้วย นับเป็นจิตรกรคนแรกของไทยที่มีพัฒนาการเขียนรูปจิตรกรรมฝาผนังโดยการนำทฤษฎีการเขียนภาพแบบสามมิติแบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในงานจิตรกรรมของไทยในยุคนั้น ภาพต่าง ๆ  ที่ขรัวอินโข่งเขียนจึงมีแสง  เงา  มีความลึกและเหมือนจริง          
ผลงานของขรัวอินโข่งเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก เคยโปรดเกล้าฯ  ให้เขียนรูป
ต่างๆ  ตามแนวตะวันตกไว้ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นภาพเขียนแรก ๆ  ของขรัวอินโข่ง  นอกจากนั้นมีภาพเหมือนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่หอพระราชกรมานุสรณ์
 
          ภาพของขรัวอินโข่งเท่าที่มีปรากฏหลักฐานและมีการกล่าวอ้างถึง อาทิ ภาพเขียนชาดก เรื่องพระยาช้างเผือก  ที่ผนังพระอุโบสถ  และภาพสุภาษิตที่บานแผละ  หน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ภาพพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในหอพระราชพงศานุสรณ์ในพระบรมมหาราชวัง ภาพปริศนาธรรมที่ผนังพระอุโบสถวัดบรมนิวาส  ภาพพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ฯลฯ     
 
 
  
การเขียนภาพแบบตะวันตก
 
ที่ใช้แสงและเงาสร้างเป็นภาพ 3 มิติ
 
          ภาพเขียนจากฝีมือขรัวอินโข่งเหล่านี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว    โดดเด่น  แปลกตา  ใช้สีเข้มและสีอ่อน  แตกต่างจากงานจิตรกรรมที่เคยเขียนกันมาในยุคนั้น  ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของงานจิตรกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เรียกกันว่า  จิตรกรรมสกุลช่างขรัวอินโข่ง  ที่เป็นต้นกำเนิดของงานจิตรกรรมไทยในยุคต่อ ๆ  มา      
 
                                                                     
                                                ภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดย ขรัวอินโข่ง   
 
 
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
 
รมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  
 
 
           สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวัญอุไทยวงศ์  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๑  เป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม
              เมื่อมีพระชันษา ๑๗ ปี  ทรงเข้ารับราชการทำหน้าที่ตรวจบัญชีคลังร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์  ในสมัยนั้นการเก็บภาษีอากรของแผ่นดินยังไม่เป็นระเบียบ ผลประโยชน์ของแผ่นดินรั่วไหลมาก  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์  อันเป็นต้นกำเนิดของกระทรวงการคลังขึ้น  มีการตั้งสำนักงานออดิต ออฟฟิศ  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์เป็นหัวหน้าพนักงาน  ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี  ทรงพระปรีชารอบรู้ทั้งภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  และวิชาเลข  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้ไปรับราชการช่วยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร  บุนนาค)  ราชเลขฝ่ายต่างประเทศ  หลังจากนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ  และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  สถาปนาให้ทรงกรม  เป็นกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ 
 เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๒๔  กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ  ทรงริเริ่มให้มีการตั้งทูตไทยประจำราชสำนักต่างประเทศ เพื่อความสะดวกในการเจรจากับกงสุลต่างประเทศ  และทรงดำริที่จะทำสัญญากับอังกฤษจัดตั้งศาลต่างประเทศขึ้นที่เชียงใหม่ อันเป็นการ
เริ่มนำคนในบังคับต่างประเทศมาไว้ในอำนาจศาลไทย
 
ใน พ.ศ. ๒๔๒๔  ตำแหน่งเสนาบดีกรมท่าว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการเป็นเสนาบดีกรม  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  เลื่อนเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมชั้นผู้ใหญ่เป็นกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ  ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ  ทรงพยายามที่จะหาทางรักษาไมตรีระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ  ให้ดำเนินไปด้วยดี  กรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒  มีการปะทะกันระหว่างเรือของฝรั่งเศสกับไทย  พระองค์ทรงช่วยผ่อนคลายสถานการณ์อันตึงเครียดถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนไปบ้าง แต่ก็ยังคงรักษาเอกราชของไทยไว้ได้ นสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีสืบมา และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ
                เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙  ทรงเป็นมหาอำมาตย์ยศเทียบเท่ากับจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖  พระชันษา ๖๕ ปี  ทรงเป็นต้นราชสกุล  เทวกุล

 
 
 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 
         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ ๔  กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม  มีพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕  ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในพระบรมหมาราชวัง  ในสมัยรัชกาลที่ ๕  ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  แล้วเลื่อนเป็นกรมหลวง  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระยา  และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕  ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วนความวิริยะอุตสาหะ  มีความรอบรู้  มีความซื่อสัตย์  และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์   
 
ผลงานสำคัญมี 3 ด้าน    
 
การศึกษา
 
                ใน พ.ศ. ๒๔๒๓  ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จึงเกี่ยวข้องกับการศึกษามาตั้งแต่นั้น  เนื่องจากมีการตั้งโรงเรียนทหารมหาดเล็กขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนพลเรือน  จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๓  ทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการและกำกับกรมธรรมการ  จึงปรับปรุงงานด้านการศึกษาให้ทันสมัย เช่น กำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ คือ ฝึกคนเพื่อเข้ารับราชการ กำหนดหลักสูตร เวลาเรียนให้เป็นแบบสากล  ทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้นใช้เพื่อสอนให้อ่านได้ภายใน ๓ เดือน  มีการตรวจคัดเลือกหนังสือเรียน  กำหนดแนวปฏิบัติราชการในกรมธรรมการ  และริเริ่มขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรสามัญชน  เป็นต้น  
 
การปกครอง
 
                ทรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรกเป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี ติดต่อกันตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๕๘  ทรงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในแนวใหม่  โดยยกเลิกการปกครองที่เรียกว่า  ระบบกินเมือง   ซึ่งให้อำนาจเจ้าเมืองมาก มาเป็นการรวมเมืองใกล้เคียงกันตั้งเป็นมณฑล  และส่งข้าหลวงเทศาภิบาลไปปกครองและจ่ายเงินเดือนให้พอเลี้ยงชีพ  ระบบนี้เป็นระบบการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  นอกจากนี้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย  เพื่อทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขราษฎร  เช่น  กรมตำรวจ  กรมป่าไม้  กรมพยาบาล  เป็นต้น  ตลอดเวลาที่ทรงดูแลงานมหาดไทย ทรงให้ความสำคัญแก่การตรวจราชการเป็นอย่างมาก เพราะ ต้องการเห็นสภาพเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ดูการทำงานของข้าราชการ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการหัวเมืองด้วย  
 
งานพระนิพนธ์
 
                ทรงนิพนธ์งานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมไว้เป็นจำนวนมาก  ทรงใช้วิธีสมัยใหม่ในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดี  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ต่อมาเสด็จกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง    ในตำแหน่งเสนาบดีมุรธาธร   และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี งานสำคัญอื่นๆ ที่ทรงวางรากฐานไว้  ได้แก่  หอสมุดสำหรับพระนคร  และงานด้านพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖  ทรงเป็นต้นราชสกุล ดิศกุล  ใน พ.ศ. ๒๕๐๕  ยูเนสโกประกาศยกย่องพระองค์ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติจากสถาบันแห่งนี้ 
 
 
สมเด็จเจ้าพระยา
บรมมหาศรีสุริยวงศ์
 
             สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค)  เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ)  กับท่านผู้หญิงจันทร์  เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๓๕๑  ในวัยเด็กได้รับการศึกษาจากวัด  เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นในสมัยรัชกาลที่ ๒ บิดาซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาพระคลัง  นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และทำงานด้านพระคลังและกรมท่าอยู่กับบิดา  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓  รับราชการมีความชอบมาก  ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์มาตามลำดับ  จนเป็นหมื่นไวยวรนาถ  ใน พ.ศ. ๒๓๘๔  และเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ในตอนปลายรัชกาล  ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔  ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ว่าที่สมุหกลาโหมเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ฝักใฝ่สนใจศึกษาศิลปวิทยาของตะวันตก จึงจัดเป็นพวกหัวใหม่คนหนึ่งของสมัยนั้น  ท่านกับบิดาของท่านได้คอยช่วยเหลือสนับสนุนพวกมิชชันนารีที่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ ๓  เพื่อให้เผยแพร่วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ออกไป  เมื่อเซอร์จอห์นเบาว์ริง  เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทรงเป็น ๑ ใน ๕ ที่รัชกาลที่ ๔ ทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาข้อสัญญากับเซอร์จอห์น เบาว์ริง  ทำการทำสนธิสัญญาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี  และต่อมาท่านได้เป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการทำสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับนานาประเทศในตอนปลายรัชกาลที่ ๔  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งเป็นวังหน้าหรือพระมหาอุปราชสวรรคต รัชกาลที่ ๔ ไม่ได้ทรงตั้งผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นแทน ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ สวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๑๑  ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และเชิญเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  โดยมีมติเป็นเอกฉันท์  นอกจากนี้ยังเชิญกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ  พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวงสถานมงคล แม้จะมีผู้คัดค้านว่าการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ควรให้เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  แต่เสียงส่วนใหญ่ก็เห็นว่าควงจะตั้งไปเลย  ทั้งนี้อาจเพราะเกรงใจ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ซึ่งสนับสนุนกรมหมื่นบวรวิชัยชาญนับเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่พระมหากษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์  ขณะพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา  และมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจแทน  จึงมีผู้หวั่นเกรงว่าอาจมีการชิงราชสมบัติดังเช่นที่พระยากลาโหมกระทำในสมัยอยุธยา  แต่เหตุการณ์เช่นนั้นก็มิได้เกิดขึ้น  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ได้บริหารราชการมาด้วยความเรียบร้อย  พร้อมกันนั้นก็ได้จัดให้รัชกาลที่ ๕  ทรงได้รับการฝึกหัดการเป็นพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี  และให้ทรงเรียนรู้ศิลปวิทยาการสมัยใหม่ควบคู่ไปด้วย  นอกจากนั้นยังจัดให้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวาใน พ.ศ. ๒๔๓๑  อินเดียและพม่าใน พ.ศ. ๒๔๑๕  เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเจริญของประเทศที่อยู่ในความปกครองของตะวันตก  ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงนำแบบอย่างที่เหมาะสมมาปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าในเวลาต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๕  ทรงบรรลุนิติภาวะใน พ.ศ. ๒๔๑๖  ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒  ซึ่งแสดงว่าจะทรงว่าราชการบ้านเมืองเอง  ในพระราชพิธีครั้งนี้โปรดเกล้าฯ  ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
                แม้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชกาลแผ่นดินแล้ว  แต่ก็คงทำหน้าที่ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินต่อมา  จนถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. ๒๔๒๕  รวมอายุได้ ๗๔  ปี